ประวัติความเป็นมา

         ศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล ก่อตั้งขึ้นโดยมุ่งที่จะเป็นศูนย์รวมของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางการพยาบาลเฉพาะทางด้านต่างๆ เพื่อผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและบูรณาการกับการเรียนการสอนและการบริการวิชาการแก่ชุมชน สืบเนื่องจากได้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศอยู่ก่อนแล้ว 3 ศูนย์ ใน พ.ศ. 2546 ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาลผู้สูงอายุ ศูนย์การพยาบาลด้านเอชไอวีและเอดส์ ศูนย์การศึกษาพยาบาล และใน พ.ศ. 2549 ได้มีเพิ่มขึ้นอีก 1 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์นโยบายและผลลัพธ์ทางการพยาบาล ซึ่งแต่ละศูนย์ได้ดำเนินการโดยเอกเทศ

        ต่อมาคณะพยาบาลศาสตร์ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานในปี พ.ศ. 2551 จึงเกิดศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาลในโครงสร้างของคณะพยาบาลศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการเพิ่มเติมศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ของคณาจารย์ เพื่อให้เป็นแหล่งกิจกรรมทางวิชาการ การวิจัย และการให้บริการวิชาการที่มีคุณภาพแก่ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งเป็นศูนย์กลางเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการพัฒนาฐานข้อมูลทางวิชาการพยาบาลในด้านต่างๆ

        ศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาลประกอบด้วย 10 ศูนย์ความเป็นเลิศ ได้แก่ 1) ศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาพยาบาลและเทคโนโลยีนวัตกรรม 2) ศูนย์พัฒนาระบบสุขภาพชุมชน 3) ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในคนทำงานภาคเหนือ 4) ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านการดูแลทางจิตเวชและสุขภาพจิต 5) ศูนย์นโยบายและผลลัพธ์ทางการพยาบาล 6) ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านการดูแลผู้สูงอายุ 7) ศูนย์พัฒนาระบบและกลไกการดูแลเด็กและวัยรุ่น 8)  ศูนย์พัฒนาศักยภาพการบริการสปาเพื่อสุขภาพ 9) ศูนย์พัฒนางานด้านสุขภาพทางเพศ และ  10) ศูนย์วิจัยทางการผดุงครรภ์ โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานที่รับผิดชอบตามภารกิจที่กำหนดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

      ปัจจุบันศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาลดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์คณะพยาบาลศาสตร์ โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันชั้นนำระดับสากลด้านการศึกษาและการวิจัย (โดยตั้งเป้าหมายเป็นสถาบันการศึกษาทางการพยาบาลใน 100 อันดับแรกของโลกภายในปี พ.ศ. 2567) ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนรับผิดชอบในขับเคลื่อนทั้งงานวิจัย นวัตกรรม บริการวิชาการ งานรับใช้สังคมที่สอดรับกับงานด้านการจัดการเรียนการสอน โดยมีวิสัยทัศน์ 1) พัฒนากลุ่มวิจัยที่เข้มแข็งและมีการทำงานเป็นทีม เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับนักศึกษาถึงระดับนักวิจัยอาวุโส 2) พัฒนานักวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความสามารถในระดับนักวิจัยอาวุโส 3) พัฒนาเครือข่ายนักวิจัยระดับชาติและนานาชาติ และ 4) พัฒนางานที่บูรณาการ การวิจัย นวัตกรรม บริการวิชาการ/บริการชุมชน และการเรียนการสอนเข้าด้วยกัน

       การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาลประกอบด้วยคณะกรรมการสองชุด ได้แก่ คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล และคณะกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล

        โดยคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล ประกอบด้วยที่ปรึกษาจำนวน 4 คน โดยมีคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์เป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการประกอบด้วยรองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน โดยมี หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการบริหารงานของศูนย์ฯ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดตั้งศูนย์ฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พิจารณารับรองรายงานประจำปี รายงานการเงินของศูนย์ฯ และพิจารณาอำนาจและหน้าที่และการจัดระเบียบบริหารงานในศูนย์ฯ โดยมีการประชุมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง 

ส่วนคณะกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล ประกอบด้วย หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล เป็นประธานกรรมการ และประธานศูนย์เฉพาะทางแต่ละศูนย์เป็นกรรมการ โดยหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศฯ คัดเลือกอาจารย์ในศูนย์เฉพาะทางสองท่านเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์ความเป็นเลิศฯ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาลมีการประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง

วัตถุประสงค์

(1) เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งความรู้ ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ การวิจัย และการให้บริการวิชาการที่มีคุณภาพแก่ 

     ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(2) เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ และการพัฒนา    

     ฐานข้อมูลทางการพยาบาลในด้านต่าง ๆ

(3) เพื่อพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศในการพยาบาลกลุ่มเป้าหมายที่เชี่ยวชาญ โดยทำงานร่วมกันในสหสาขาเพื่อ   

     พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อไป

วิสัยทัศน์ (Vision)

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาลที่มีคุณภาพ สร้างการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศที่ยั่งยืน

 

พันธกิจ (Mission)

(1) พัฒนานักวิจัยและทีมวิจัยให้สามารถพัฒนางานวิจัย และสร้างนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูงต่อสุขภาพของประชาชนในระดับประเทศ

(2) เชื่อมเครือข่ายระหว่างนักวิจัยของคณะกับนักวิจัย/นักวิชาการสาขาอื่น

(3) บูรณาการ การวิจัย นวัตกรรม บริการวิชาการแก่สังคม และการเรียนการสอน

 

กลยุทธ์ (Strategy)

(1) การยกระดับงานวิจัยตาม TRL และ SRL

(2) การสนับสนุนการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ

(3) พัฒนานักวิจัย เป็นแหล่งความรู้ ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ การวิจัย และการให้บริการวิชาการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(4) พัฒนาเป็นศูนย์กลางเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ และการพัฒนาฐานข้อมูลทางการพยาบาลในด้านต่าง ๆ

(5) พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศในการดูแลในกลุ่มเป้าหมายที่เชี่ยวชาญโดยทำงานร่วมกันในสหสาขาเพื่อพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อไป

(6) สร้างนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ที่สามารถสร้างรายได้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน

 

ศูนย์เฉพาะทางการพยาบาล ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล

การบริหารของศูนย์เฉพาะทางฯ นั้น มีคณะกรรมการศูนย์เฉพาะทางที่ประกอบด้วยคณาจารย์นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นเดียวกันมารวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม บริการวิชาการ และงานรับใช้สังคม ที่สอดรับกับการจัดการเรียนการสอน ซึ่งแต่ละศูนย์เฉพาะทางจะมีการจัดทำผังพิสัยงานวิจัยและแผนปฏิบัติการเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการศูนย์เฉพาะทางฯ คณะกรรมการนี้มีบทบาทหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารงานของศูนย์ฯ ให้เป็นไปตามระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติงาน ตลอดจนรายงานผลการดำเนินงานประจำปีของศูนย์ฯ ต่อคณะกรรมการอำนวยการ

 

ปัจจุบัน มี ศูนย์เฉพาะทางการพยาบาล จำนวน 10 ศูนย์ ได้แก่ 

1. ศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาพยาบาลและเทคโนโลยีนวัตกรรม 

   (Center for Quality Development in Nursing Education and Innovation Technology: CNEI)

2. ศูนย์วิจัยทางการผดุงครรภ์  (Midwifery Research Center: MRC)

3. ศูนย์พัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(Center of Community Health System Development: CCSD )

4. ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในคนทำงานภาคเหนือ

   (The Center for Occupational Health and Safety for Workers in the Northern Region: COHSN)

5. ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านการดูแลทางจิตเวชและสุขภาพจิต (Center for Mental Health and Psychiatric Care: MHCC)

6. ศูนย์นโยบายและผลลัพธ์ทางการพยาบาล (Nursing Policy and Outcome Center: NPOC)

7. ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านการดูแลผู้สูงอายุ (Center for Research and Innovation in Elderly Care: CRIEC )

8. ศูนย์พัฒนางานวิจัยด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ (Center for Developing Research on Sexual and  Reproductive Health: SH-RH )

9. ศูนย์พัฒนาระบบและกลไกการดูแลเด็กและวัยรุ่น (Center of system and mechanism development for children  and adolescents care: CdCaC )

10.ศูนย์พัฒนาศักยภาพการบริการสปาเพื่อสุขภาพ (Center of Efficiency Development  for Health Spa Services: CDHS)

 

 
ปรับปรุงล่าสุด 15/3/2565 13:29:10

FON CMU

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
110/406 ถนนอินทวโรรส ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

โทร. 053-935024 แฟ็กซ์ 053-217145