รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น (ครุฑทองคำ) ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ประจำปี 2562
รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น (ครุฑทองคำ) ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ประจำปี 2562  

รองศาสตราจารย์ ดร.นงเยาว์ เกษตร์ภิบาล กลุ่มวิชาการพยาบาลพื้นฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น (ครุฑทองคำ) ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี 2562 โดยในเบื้องต้นสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และ นวัตกรรม มีแนวทางในการดำเนินการจัดพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2562 ในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงการอุดมศึกษาฯ วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม 2563 ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยจะเลื่อนการจัดพิธีดังกล่าวออกไปจนกว่าจะกลับสู่สภาวะปกติ

รองศาสตราจารย์ ดร.นงเยาว์ เกษตร์ภิบาล เป็นผู้ปฏิบัติตนชอบด้วยคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณข้าราชการ เป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม มีความประพฤติในการครองตน มีความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และผู้อื่น มีความโอบอ้อมอารี ไม่ย่อท้อต่อปัญหา ปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา รักษาและปฏิบัติตามระเบียบวินัย ตั้งใจทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยตนเอง และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับการครองคน สามารถประสานสัมพันธ์และมีความเข้าใจอันดีกับผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้มาติดต่องานเป็นอย่างดี ได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมงานอย่างเปิดเผยทั้งต่อหน้าและลับหลัง ร่วมกิจกรรมทั้งในและนอกหน่วยงาน สำหรับการครองงาน เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตมุ่งมั่นในผลงานอย่างเต็มใจจนมีผลงานปรากฏที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน ราชการ ในระดับประเทศชาติ และนานาชาติมากกว่าผู้อื่นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังมีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่ราชการและสังคมมากมาย  โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นงเยาว์ เกษตร์ภิบาล เป็นคณะทำงานพัฒนาแนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก เรื่อง “WHO Guidelines for Safe Surgery 2009 Safe Surgery Saves Lives” ได้รับทุนจาก USAID-RESPOND จัดอบรมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ เรื่อง การป้องกันโรคไข้หูดับ (Streptococcus suis Infection) ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ ONE HEALTH จำนวน 3 ครั้ง ปี พ.ศ. 2556 ถึง 2557   รวมถึงการได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาชั่วคราวขององค์การอนามัยโลก (WHO Temporary Adviser in Prevention Infection for the Global Patient Safety Challenge "Safe Surgery Saves Lives") ปี พ.ศ. 2550 ถึง 2552 และเป็นคณะทำงานพัฒนาแนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก เรื่อง “WHO Guidelines for Safe Surgery 2009 Safe Surgery Saves Lives” รวมถึง “Surgical Safety Checklist” ซึ่งเป็นตัวแทนคนเดียวของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 4 ของพยาบาลจากทั่วโลกที่ได้รับเชิญในการทำงานครั้งนี้
  
นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาชมรมควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการบริหารหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อและการควบคุมการติดเชื้อ และมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติจำนวนมาก รวมถึงยังเป็นคณะทำงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลแห่งชาติ ประธานศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาพยาบาลและนวัตกรรม คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กรรมการบริหารชมรมเครือข่ายวิจัยโรงพยาบาล กรรมการจัดการประชุมของพยาบาลควบคุมการติดเชื้อแห่งประเทศไทย (ICN Forum) กรรมการจัดการประชุมสัมมนาการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อระดับชาติ  คณะทำงานพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขเพื่อการใช้ข้อมูลสุขภาพ 43 แฟ้ม ในการดำเนินการโครงการการสร้างความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาของโรคไม่ติดต่อ (์Non-communicable Disease: NCD) สำหรับประเทศไทย กรรมการ Scientific Committee“การจัดการประชุมระดับนานาชาติในระดับภูมิภาค 8th International Congress of Asia Pacific Society of Infection Control (APSIC) 2017” รวมถึงเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานเขต (ภาคเหนือ) และประธานวิชาการของสมาคมพยาบาลห้องผ่าตัดแห่งประเทศไทย

 

  ปรับปรุงล่าสุด 30/04/2020
<< กลับหน้าหลัก

FON CMU

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
110/406 ถนนอินทวโรรส ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

โทร. 053-935024 แฟ็กซ์ 053-217145