ข้อค้นพบจากโครงการ Thai Nurse Cohort เกี่ยวกับสุขภาพของพยาบาลวิชาชีพไทย
 
 

ข้อค้นพบจากโครงการThai Nurse Cohort เกี่ยวกับสุขภาพของพยาบาลวิชาชีพไทย

 

โดย  ผศ.ดร.เพชรสุนีย์  ทั้งเจริญกุล  PhD, RN

 

ในประเทศไทยประมาณร้อยละ 90 ของพยาบาลวิชาชีพทำหน้าที่ให้การพยาบาลโดยตรงแก่ผู้ป่วยหรือที่ส่วนใหญ่เรียกว่า “พยาบาลประจำการ”  ส่วนที่เหลือร้อยละ 10 ทำงานในลักษณะอื่นได้แก่ งานด้านการบริหาร การศึกษา การวิจัยและประกอบอาชีพอิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพยาบาล (สภาการพยาบาล, 2548 อ้างในกฤษดา แสวงดี, 2551)  การทำหน้าที่ตามบทบาทของพยาบาลประจำการจะสมบูรณ์ได้จำเป็นต้องมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรค แต่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า สุขภาพของพยาบาลวิชาชีพไทยเป็นอย่างไร ?

งานวิจัยเรื่อง การติดตามสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทย ของ กฤษดา แสวงดี เพชรสุนีย์  ทั้งเจริญกุล ฑิณกร โนรี และนงลักษณ์ พะไกยา เป็นงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีความพยายามมองหาปัญหาการทำงานของพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทย และประเด็นปัญหาสุขภาพของพยาบาลวิชาชีพก็เป็นหนึ่งในปัญหาการทำงานของพยาบาลที่ในงานวิจัยนี้ให้ความสำคัญ  

งานวิจัยชิ้นนี้จัดเป็นงานวิจัยเรื่องแรกที่ได้ทำการศึกษากับกลุ่มพยาบาลวิชาชีพจำนวนมากรวมทั้งสิ้น 18,765 คน (คิดเป็นร้อยละ 15 ของพยาบาลวิชาชีพทั้งหมดในประเทศไทย)  ทีมผู้วิจัยพบว่าจากจำนวนพยาบาลประจำการทั้งหมด 15,773 คน มีประมาณหนึ่งในสามของพยาบาลประจำการ (4,879 คน) ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ไม่เจ็บป่วยด้วยโรครุนแรงหรือโรคเรื้อรังที่ต้องการรักษาโดยแพทย์   อีกสองในสามของพยาบาลประจำการ (10,894 คน) มีการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆอยู่ โดยโรคที่พบมากก็คือโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ  ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในหลายประเทศที่พบว่าพยาบาลวิชาชีพเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อมากที่สุด (Smedley, Inskip, Trevelyan, Buckle, Cooper, & Coggon, 2003)

ข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจในงานวิจัยนี้ก็คือ พยาบาลประจำการจำนวนมากมีปัญหาในการนอนหลับ ผลการวิจัยชิ้นนี้พบว่าประมาณหนึ่งในสี่ของตัวอย่างพยาบาลประจำการ ( 4,197 คน) มีปัญหาในการนอนหลับ ทั้งนี้เกิดจากลักษณะการทำงานของพยาบาลประจำการที่ต้องขึ้นเวรผลัด ต้องอยู่เวรในตอนกลางคืนเป็นประจำและมีการทำงานหลายเวรติดต่อกันจึงทำให้มีการนอนหลับไม่เป็นเวลา หลับยาก หรือเกิดความผิดปกติในระหว่างการนอนได้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเป็นเวลานานต่อเนื่องกันย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย  ในส่วนการใช้ยานอนหลับ ผลการวิจัยพบว่าร้อยละ 8 ของพยาบาลประจำการที่มีปัญหาการนอนหลับ (444 คน) มีการใช้ยาในการแก้ปัญหาการนอน ในจำนวนนี้มีเพียงครึ่งหนึ่งที่ใช้ยานอนหลับแล้วมีอาการดีขึ้น ส่วนอีกครึ่งหนึ่งใช้ยาแล้วยังคงมีปัญหาการนอนหลับอยู่ ซึ่งกลุ่มนี้มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ยานอนหลับที่รุนแรงขึ้น หากยังคงมีปัญหาการนอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานาน   

เป็นที่น่ายินดีที่โรงพยาบาลของรัฐได้มีมาตรการให้บุคลากรในโรงพยาบาลมีการตรวจสุขภาพประจำปีและให้สิทธิในการเบิกค่าตรวจสุขภาพตามที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วงอายุ  มีผลให้อุปสงค์ของการดูแลสุขภาพในเรื่องดังกล่าวของพยาบาลประจำการมีมากขึ้น  พยาบาลประจำการจึงสามารถเฝ้าระวังการเกิดโรคเรื้อรังได้แก่โรคหัวใจ / หลอดเลือดหัวใจ  โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงโรคไขมันในเลือดสูงและโรคมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตามในงานวิจัยของดร.กฤษดา พบว่า พยาบาลประจำการมีการใส่ใจในการตรวจเต้านมและตรวจมะเร็งปากมดลูกค่อนข้างน้อย มีเพียงร้อยละ 78 ของพยาบาลประจำการทั้งหมดที่มีการตรวจเต้านม ในขณะที่มีการตรวจมะเร็งปากมดลูกเพียงร้อยละ 50 ของพยาบาลประจำการที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี  แม้ว่าพยาบาลประจำการจะเป็นบุคลากรทางด้านสุขภาพที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพเป็นอย่างดีและได้รับการตรวจสุขภาพบางอย่างเป็นประจำ แต่หากไม่ตระหนักหรือให้ความสำคัญในการตรวจเต้านมและตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ อาจจะเกิดปัญหาสุขภาพซึ่งแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติได้ยาก

ทั้งหมดเป็นข้อค้นพบที่สำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ ที่สะท้อนให้เห็นภาวะสุขภาพของพยาบาลประจำการ  ในท้ายของการวิจัยชิ้นนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจได้แก่ 1) ควรมีการศึกษาปัญหาการใช้ยานอนหลับของพยาบาลประจำการมากขึ้น ทั้งปัจจัยที่มีผลให้มีการใช้ยานอนหลับรวมทั้งการศึกษาติดตามพฤติกรรมการใช้ยานอนหลับของกลุ่มที่เคยมีปัญหาการนอนหลับว่ามีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ และ 2) ถึงแม้ว่าผลการศึกษาของงานวิจัยชิ้นนี้จะพบว่าพยาบาลประจำการส่วนใหญ่มีความเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่รุนแรง แต่จากการที่พยาบาลประจำการต้องทำงานภายใต้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าผู้ทำงานประเภทอื่น  ดังนั้นทุกโรงพยาบาลจึงควรมีการจัดทำข้อมูลภาวะสุขภาพของพยาบาลอย่างเป็นระบบ มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับพยาบาลและมีการรณรงค์ให้พยาบาลประจำการตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง การตรวจมะเร็งปากมดลูกและมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

เอกสารอ้างอิง

กฤษดา แสวงดี. (2551). การศึกษาอุปทานกำลังคนพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทย. นนทบุรี : สำนักการพยาบาล กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.

กฤษดา แสวงดี, เพชรสุนีย์  ทั้งเจริญกุล, ฑิณกร โนรี,และ นงลักษณ์ พะไกยา. (2553). รายงานสรุปโครงการศึกษาติดตามสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทย. นนทบุรี : สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระดับประเทศ กระทรวงสาธารณสุข.

Smedley, J., Inskip, H., Trevelyan, F.,Buckle, P., Cooper, C., & Coggon, D. (2003). Risk factors for incident neck and shoulder pain in hospital nurses. Occupational Environment Medicine, 60, 864-869.

ปรับปรุงล่าสุด 10/6/2557 15:29:48
<< กลับหน้าหลัก

FON CMU

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
110/406 ถนนอินทวโรรส ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

โทร. 053-935024 แฟ็กซ์ 053-217145